วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “สมาร์ทโลคอลไกด์” ต้นแบบนวัตกรรมเพื่อชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ เพิ่มรายได้ผู้ประกอบการในชุมชน
พร้อมเปิดตัวต้นแบบนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน “สมาร์ทโลคอลไกด์” (Smart Local Guide) แอปพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
พร้อมด้วยเปิดตัวหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิชาเอกเทคโนโลยีการเรียนรู้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และ ตั้งเป้าเป็น “ศูนย์รวมองค์ความรู้และแหล่งผลิตบุคลากรด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของภาคเหนือ” เติมเต็มระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (Ecosystem) แหล่งรวมองค์ความรู้ทางวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นเพื่อการมุ่งหน้าสู่จังหวัดที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation City)
นายธนโชติ เฉวียงหงษ์ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานแอปพลิเคชั่น“สมาร์ทโลคอลไกด์”กล่าวว่า แอปพลิเคชั่น “สมาร์ทโลคอลไกด์” เป็นแอปพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยหัวใจหลักของการออกแบบแอปพลิเคชั่น คือ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนการใช้งาน เพียงเลือกโปรแกรมท่องเที่ยวที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่มเริ่มต้น (Start) ซึ่งจะปรากฎเป็นภาพแผนที่ที่ปักหมุดสถานที่สำคัญของจังหวัดในภาพรวม พร้อมทั้งระบุระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง และแสดงเส้นทางในการดินทางแต่ละจุดได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนแสดงข้อมูลเชิงลึกของสถานที่สำคัญ และอินไซด์ทิปส์ (Insight Tips) คำแนะนำแบบอินไซท์จากคนท้องถิ่น เพียงเลือกโหมดสแกนคิวอาร์โค้ด
ขณะเดียวกัน แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ยังมีระบบออดิโอไกด์ (Audio Guide) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลเสียงแก่ผู้ที่ไม่สะดวกในการอ่านข้อความอีกด้วย
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทีมผู้พัฒนาได้นำร่องใส่ข้อมูลสถานที่ต่างๆ ของจังหวัดลำปางในแอปพลิเคชั่น อาทิ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อินทราเซรามิก ศูนย์จำหน่ายเซรามิกฝีมือชาวบ้านที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง สะพานรัษฎาภิเศก หนึ่งในแลนด์มาร์คประจำจังหวัดลำปางที่นักท่องเที่ยวต้องเช็คอิน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ยังถูกออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างคิวอาร์โค้ดได้ด้วยตนเอง และหากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดทำ ป้ายสำหรับสแกนคิวอาร์โค้ด ติดตั้งบริเวณหน้าสถานที่สำคัญหรือร้านจำหน่ายสินค้าของชุมชน ก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
ในอนาคตจะมีการเพิ่มรายละเอียดแหล่งสินค้า และร้านอาหารที่เป็นโลคอลมากขึ้น และเปิดเป็น “โอเพ่นแพลตฟอร์ม” (Open Platform) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถอัพข้อมูลได้เอง พร้อมทั้งโปรโมทแก่นักท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงและรู้จักร้านค้าของตนได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา :
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/301357
http://www.ryt9.com/s/prg/2735477